ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง แต่คนจะงามได้ครบสูตร ก็ต้องมีเส้นผมที่ดูสลวยเงางามและมีน้ำหนัก แต่สาว ๆ รวมถึงหนุ่ม ๆ หลายคน อาจกำลังประสบกับปัญหาผมร่วงหรือผมบางอยู่ หลายคนปัญหานี้มาเร็วก่อนวัยอันควร ซึ่งอาจลดความมั่นใจในตนเอง บางคนถึงกับไม่กล้าออกไปไหนเลยก็มี
ถ้าอยากรักษาผมร่วง ผมบาง เราก็ต้องรู้ก่อนว่า ผมร่วงเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ผมร่วง การป้องกันไม่ให้ผมร่วงมากขึ้นทำได้อย่างไร จากนั้นจึงมาดูวิธีรักษาผมร่วงทั้งการใช้ยา วิธีที่ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมถึงวิธีรักษาผมร่วงแบบธรรมชาติ ซึ่งติดตามรายละเอียดเหล่านั้นได้ดังนี้เลย : วิธีเร่งผมยาว
ทำความรู้จักปัญหาผมร่วง
เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเสมอ เส้นผมก็เช่นกัน ต้องมีการหลุดร่วงและงอกใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งทำให้ภาวะที่ผมหลุดร่วงนั้น เป็นสิ่งที่ปกติไม่ได้ผิดแปลกอะไร และตามปกติแล้ว เส้นผมจะมีอัตราการร่วงประมาณ 100 เส้นต่อวัน แต่ถ้าเส้นผมเกิดการร่วงในอัตราที่มากกว่านี้ อาจทำให้เกิดปัญหาผมร่วง (hair loss) ได้ ซึ่งในผู้หญิงอาจพบว่าเส้นผมตรงกลางศีรษะบางลง ส่วนในผู้ชายอาจเกิดภาวะหัวล้าน โดยประมาณกว่าร้อยละ 50 ของคนที่มีอายุประมาณ 50 ปี มักประสบกับปัญหาผมร่วงนี้
ผมร่วง (Hair Loss) สามารถเกิดขึ้นได้ไม่เฉพาะกับหนังศีรษะเท่านั้น แต่สามารถเกิดกับเส้นขนทุกส่วนของร่างกาย โดยอาจมีสาเหตุจากเรื่องของการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน การใช้ยาบางชนิด รวมถึงการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งญาติสายตรงมักจะมีภาวะผมร่วงเช่นเดียวกัน บ่อยครั้งที่ภาวะผมร่วงอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ก็อาจทำให้ผู้ที่ผมร่วงเกิดความรู้สึกไม่ดี โดยเฉพาะในด้านภาพลักษณ์ ถ้าเกิดความกังวลใจมาก หรือมีภาวะผมร่วงเยอะมากขึ้น การปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ผมร่วงเกิดจากอะไร
ถึงแม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาผมร่วงในแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องฮอร์โมน พันธุกรรม และอาหารการกิน โดยสาเหตุที่เป็นไปได้ สรุปได้ดังนี้
1. ปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน
โดยเฉพาะในเพศหญิงในรายที่ระดับของฮอร์โมนเพศชายสูง อาจทำให้เกิดภาวะผมบางได้ แต่ในกรณีของเพศชาย จะมีความเกี่ยวข้องกับยีนหรือพันธุกรรม ซึ่งเป็นสาเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องใช้วิธีอื่น ๆ ในการรักษาผมร่วง เช่น การใช้ยา
2. ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งครรภ์
การตั้งครรภ์จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ผมร่วงได้ แต่จะหายไปหลังคลอด 3 ถึง 4 เดือน
3. ร่างกายรับสารอาหารบางชนิดมากเกินไป
การได้รับสารอาหารบางชนิดมากเกินไป โดยเฉพาะวิตามินเอ (vitamin A) ซึ่งการได้รับมากกว่า 5,000 หน่วยสากล เป็นสาเหตุผมร่วงได้ ถ้าหยุดกินก็จะกลับมาเป็นปกติ
4. ร่างกายขาดสารอาหารบางชนิด
การขาดสารอาหารบางอย่าง โดยเฉพาะสารอาหารประเภทโปรตีน ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ มักพบได้บ่อยในคนที่ทุพลโภชนาการ หรือในคนที่กำลังลดน้ำหนัก นอกจากนี้การขาดวิตามินบี (vitamin B) ก็ทำให้ผมร่วงได้เช่นเดียวกัน เพียงแค่กลับมารับประทานอาหารที่มีโปรตีน และวิตามินบีสูง เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วเมล็ดแข็ง และธัญพืชนานาชนิด ก็จะช่วยแก้ปัญหาผมร่วงได้แล้ว
5. การเจ็บป่วย
ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยทางกาย การติดเชื้อ การเป็นโรคเรื้อรัง การได้รับอุบัติเหตุ และการผ่าตัดใหญ่ จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะหยุดชะงัก ต้องมีการใช้สารอาหารไปเลี้ยงในอวัยวะที่บาดเจ็บ ทำให้เส้นผมจึงหลุดร่วง แต่การหลุดร่วงจะเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหายเจ็บป่วยแล้ว อาการผมร่วงก็จะหายไป
6. การเจ็บป่วยทางจิตใจ
หรือเกิดภาวะความกดดันขึ้นในจิตใจ ทำให้เกิดความเครียด ส่งผลทำให้ผมร่วง วิธีแก้คือการหาวิธีคลายเครียด การออกกำลังกาย รวมถึงการปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อรับการรักษาผมร่วงอย่างถูกต้อง
7. การได้รับยาเคมีบำบัด
โดยเฉพาะยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งนอกจากจะมีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งแล้ว ยางบางชนิดยังทำลายเซลล์ปกติ โดยเฉพาะเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตเร็วอย่างเซลล์รากผม นอกจากนี้ยาบางตัว เช่น ลิเธียม (lithium) ซึ่งใช้รักษาโรคจิตเภท ยารักษาโรครูมาตอยด์ และยาแก้ปวดบางชนิด ก็สามารถทำให้ผมร่วงได้เช่นเดียวกัน
8. การใช้สารกระตุ้นกล้ามเนื้อ
โดยเฉพาะแอนาบอลิคฮอร์โมน (anabolic steroids) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย อาจเป็นสาเหตุของปัญหาผมร่วงในผู้ชายได้
9. โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง หรือโรค SLE
เป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายคิดเองว่าเซลล์ของร่างกายเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงทำเม็ดเลือดขาวเข้ามาทำลายเซลล์ดังกล่าว ในกรณีที่เป็นเซลล์รากขน รากขนก็จะถูกทำลายและทำให้เกิดการร่วงหล่นของเส้นผมได้
10. โรคโลหิตจาง
ซึ่งเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก มักจะมีอาการผมร่วงร่วมกับอาการซีด อ่อนเพลียง่าย หน้ามืดเป็นลม ผิวหนังเย็น ซึ่งรักษาได้ด้วยการทานเหล็กเสริม รวมถึงทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ผักโขม และเครื่องในสัตว์
11. โรคไฮโปไทรอยด์ (hypothyroidism)
เป็นภาวะที่ฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดมีระดับต่ำ ซึ่งตัวไทรอยด์จะทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ทั่วร่างกาย ถ้าฮอร์โมนตัวนี้ต่ำก็อาจทำให้เซลล์รากผมไม่เติบโตและไม่แข็งแรง เกิดผมร่วงตามมาได้
วิธีป้องกันผมร่วง และการดูแลหนังศีรษะให้มีสุขภาพดี
ถึงแม้ว่าปัญหาผมร่วงอาจเป็นปัญหาที่ป้องกันได้ยาก แต่การเริ่มลงมือดูแลเส้นผมไม่ให้หลุดร่วงด้วยการกำจัดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
เพราะจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทำให้เซลล์รากผมได้รับออกซิเจนและสารอาหารมากขึ้น อีกทั้งการออกกำลังกายยังช่วยลดความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดผมร่วง
2. รับประทานอาหารครบถ้วน
โดยเฉพาะสารอาหารประเภทโปรตีน ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม รวมถึงวิตามินชนิดต่าง ๆ ทั้งวิตามินบี วิตามินซี เป็นต้น และถ้ารู้สึกว่าได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน อาจพิจารณาการทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มได้ และในกรณีที่กำลังลดความอ้วนอยู่ ก็ไม่ควรงดอาหารประเภทโปรตีน และไม่ควรลดน้ำหนักเร็วเกินไป เนื่องจากอาจทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง เกิดความเจ็บป่วย ซึ่งส่งผลให้ผมร่วงในทางอ้อม
3. ทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะอย่างถูกวิธี
โดยไม่ควรสระผมมากกว่าวันละ 1 ครั้ง เพราะจะทำให้เส้นผมและหนังศีรษะขาดความชุ่มชื้น ไม่ควรใช้น้ำอุ่นหรือน้ำที่ร้อนจัดสระผม เพราะจะทำให้ผมแห้งกรอบและร่วงมากขึ้น และในระหว่างที่สระผม ไม่ควรขยี้เส้นผมและหนังศีรษะแรงเกินไป ควรนวดเบา ๆ เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดในหนังศีรษะดีขึ้น ซึ่งจะช่วยบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะไปในตัว และที่สำคัญควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผมและหนังศีรษะที่เหมาะกับสภาพเส้นผม ถ้าเป็นคนที่แพ้ง่าย ควรเลือกใช้แชมพูสูตรอ่อนโยน แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องรังแค ก็อาจเลือกแชมพูที่ช่วยควบคุมความมัน หรือมีสารป้องกันรังแคโดยเฉพาะ
4. ขณะผมเปียกไม่ควรหวีผมแรงๆ
หลังสระผมในขณะที่ผมยังเปียกอยู่ ควรหลีกเลี่ยงการหวีแรง ๆ เพราะเส้นผมที่เปียกจะมีความอ่อนแอมากยิ่งขึ้น รวมถึงยังทำให้สารที่เคลือบชั้นนอกของเส้นผมเสียหาย ทำให้ผมดูมีสุขภาพไม่ดี
5. ไม่ควรใช้สารเคมีกับเส้นผมและหนังศีรษะมากเกินไป
โดยเฉพาะการย้อมสี การดัด ซึ่งจะเป็นการทำลายโครงสร้างโปรตีนในเส้นผม รวมถึงทำลายหนังศีรษะและรากขน ทำให้เส้นผมเปราะบาง ขาดง่าย และชี้ฟู
6. ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดกับเส้นผม
เมื่อต้องตากแดดเป็นเวลานาน ควรใช้เซรั่มที่ช่วยบำรุงเส้นผม เนื่องจากรังสียูวีในแสงอาทิตย์ สามารถทำให้โปรตีนในเส้นผมถูกทำลาย ทำให้เส้นผมแห้งกรอบ และขาดหลุดร่วงในที่สุด
วิธีรักษาผมร่วง
วิธีรักษาผมร่วงมีอยู่ด้วยกันหลากหลายวิธี ทั้งวิธีที่ใช้ยาซึ่งมีทั้งยาในรูปแบบรับประทานและยาที่ใช้ภายนอก รวมถึงวิธีที่ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันก็มีความก้าวหน้าไปพอสมควร สำหรับวิธีรักษาผมร่วง